จังหวัดลำพูนบูรณาการหน่วยงานดันสุดยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจังหวัด

จังหวัดลำพูนบูรณาการหน่วยงานดันสุดยอดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจังหวัด

จังหวัดลำพูนบูรณการหน่วยงานทั้งพาณิชย์ อุตสาหกรรมและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและพัฒนาหัตถนวัตกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สากล

ที่ลานกิจกรรมชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต นายสำเริง ไชยเสน รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน พร้อมด้วย นางเฟื่องฟ้า ตุลาธรรมกุล พาณิชย์จังหวัดลำพูน นางอาภัสสรา ธงพิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน นางจินต์นันท์ ขันท์ไชย หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม และนางผ่องศรี รัตนงาม ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดลำพูน ร่วมกันแถลงข่าว “สุดยอดผลิตภัณฑ์หัตถนวัตกรรมจังหวัดลำพูน”ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาหัตถนวัตกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สากล

นายสำเริง ไชยเสน รองผวจ.ลำพูน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ในด้านอุตสาหกรรม ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของประเทศ โดยการพัฒนาวัตถุดิบและกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมการวิจัยเกษตรแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและแก้ไขปัญหาที่สำคัญของประเทศ ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้การออกแบบและสร้างสรรค์ การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เข้มแข็งสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ Value–Based Economyและ Thailand 4.0 โดยใช้แนวทาง  การเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขัน

รองผวจ.ลำพูน กล่าวอีกว่า จังหวัดลำพูนมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หัตถนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ปีนี้เป็นปีที่ 3 ซึ่งตั้งแต่ได้กระแสจากการจัดงานอุ่นไอรักทำให้ผ้าไทยได้รับความสนใจและนิยมมากขึ้น เป้าประสงค์นอกจากให้คนไทยตื่นตัวและใช้ผ้าไทยแล้ว ก็ยังต้องการให้คนต่างประเทศสนใจได้สวมใส่ผ้าไทยด้วย ซึ่งได้มีการเชิญนักดีไซน์มาช่วยสอนและออกแบบ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด ตรงจุดนี้ก็ทำให้ผลิตภัณฑ์หัตถนวัตกรรมของจังหวัดลำพูนได้รับความสนใจมากขึ้น และจังหวัดลำพูนไม่ได้มีแค่ผลิตภัณฑ์ผ้าเท่านั้น แต่ยังมีผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ได้รับการพัฒนาจากสินค้าโอทอปให้เป็นสินค้าที่ได้สี่ดาว ห้าดาวด้วย

ทางด้านนางเฟื่องฟ้า ตุลาธรรมกุล พาณิชย์จังหวัดลำพูน กล่าวว่า จังหวัดลำพูน โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน และสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาลำพูนเขต 1 , และเขต 2 ร่วมบูรณาการการทำงานร่วมกัน ภายใต้ “โครงการส่งเสริมและพัฒนาหัตถนวัตกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สากล” โดยประสานแนวทางการขับเคลื่อนกิจกรรมของแต่ละหน่วยงานตามโครงการฯ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“จากปีแรกๆ ที่ได้เริ่มจากการพัฒนาไม่กี่ราย มาปีที่ 2 ก็มีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนามาถึง 25 ผลงาน และได้นำผลงานไปจัดแสดงที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งก็ทึ่งในฝีมือของคนไทยอย่างมาก นอกจากนี้ในปีนี้เราได้มีการพัฒนาผ้าทอให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ จากที่เคยมองว่าผ้าทอเหมาะกับคนทำงาน คนสูงอายุเท่านั้น จึงได้จัดให้มีการประกวดการแต่งกายด้วยผ้าทอทางเฟสบุ๊คซึ่งผู้ที่ชนะการประกวดก็เป็นวัยรุ่น หรือคนรุ่นใหม่ซึ่งก็ช่วยสร้างกระแสได้อีกทางหนึ่ง

ขณะที่นางผ่องศรี รัตนงาม ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายและแผน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า ทางสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดได้จัดกิจกรรมที่สอดรับกับห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การส่งเสริมการเรียนรู้ในระดับนักเรียนและเยาวชน การพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการในชุมชนที่ยังไม่มีความพร้อม เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของจังหวัดสู่นวัตกรรม เป็นการเริ่มจากต้นน้ำ ซึ่งทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูน เขต 1 และเขต 2 ดำเนินการจัดการเรียนการสอนหัตถกรรมสร้างสรรค์และส่งเสริมการเรียนการสอน วิชาการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยีในสถานศึกษาท้องถิ่น

“ขณะนี้มีการเรียน การสอนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพฯนี้ 50 โรงเรียนและมากกว่า 25 โรงเรียนมีการสอนการทอผ้า เนื่องจากเด็กมีอุปกรณ์ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองทางบ้านทำอยู่แล้ว แต่เป็นการสอนเพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้สืบทอดภูมิปัญญาต่อไป และผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่ว่าจะเป็นผ้าถุง ถุงย่าม หรือผ้าติดผนัง รวมทั้งรองเท้าหรือกระเป๋าที่เป็นฝีมือของนักเรียนก็มีการนำไปจัดแสดงและจำหน่ายในช่องทางต่างๆ ด้วย และการที่มีหลักสูตรนี้ในสถานศึกษาก็เป็นการสนองนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการในการฝึกอาชีพให้กับนักเรียน และยังเป็นการฝึกสมาธิ รวมทั้งยังทำให้นักเรียนมีรายได้อีกทางหนึ่งด้วย”ผอ.กลุ่มนโยบายและแผน สนง.ศึกษาธิการจังหวัดลำพูน กล่าว

ด้านนางอาภัสสรา ธงพิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน กล่าวว่า  สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน ดำเนินกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ลำพูน เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ OTOP โดยจัดการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตชุมชน/ผู้ประกอบการ OTOP (กลุ่ม OTOP ลงทะเบียนใหม่/1 – 3 ดาว/Quadrant D) และการจัดตั้งศูนย์สัมมาชีพชุมชน เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากปราชญ์ชุมชน

“เราเป็นหน่วยงานกลางน้ำ ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการเพื่อก้าวสู่สากล และปีนี้ทางสำนักงานพัฒนาชุมชนได้คัดกลุ่มเป้าหมายจากกลุ่มโอทอปที่อยู่ระดับ 1-2 ดาวเดิมรวมทั้งกลุ่มใหม่จำนวน 100 ราย มาให้ความรู้และคัดเลือกเหลือ 50 รายที่จะพัฒนายกระดับ โดยเป็นกลุ่มผ้าทอ 35 ราย และเมื่อได้รับการพัฒนาแล้วก็จะมีการทดลองตลาดจากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว โดยจัดแสดงและจำหน่ายที่ห้างสรรพสินค้าเพื่อจะได้พบกับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายซึ่งก็ได้รวบรวมคำแนะนำ ความต้องการเอามาพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความตลาดที่ให้มากที่สุด รวมทั้งการไปศึกษาดูงานที่อื่นๆ เพื่อนำมาปรับใช้ด้วย

ขณะที่นางจินต์นันท์ ขันท์ไชย หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน ดำเนินการกิจกรรมส่งเสริมนวัตกรรมและการออกแบบผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ โดยให้ความรู้ในด้านการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยการสร้างสรรค์ออกแบบ สร้างแนวคิดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประเภทผ้า กับตลาดเป้าหมาย และการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์จากผ้า (Design & Logo & Packaging)

นายสำเริง ไชยเสน รองผวจ.ลำพูน กล่าวเสริมด้วยว่า เพื่อให้สินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดลำพูน เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน     ทั้งด้านราคา หรือเทคนิคการผลิตสินค้าที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดผู้ประกอบการจึงมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ต่อยอดจุดเด่นของสินค้า ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ออกมาเป็นสินค้าหัตถนวัตถกรรม อันทรงคุณค่า สามารถกำหนดทิศทางตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำเพื่อให้สามารถรับมือ     กับการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะสินค้าในปัจจุบันจำเป็นต้องมีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ ในระบบการตลาดที่เปิดกว้าง การพัฒนาสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาดในทุกระดับ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง  ต้องมีการพัฒนาองค์กรให้มีความพร้อมในทุกด้าน ตั้งแต่การพัฒนาศักยภาพให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง การจัดการความรู้ และการใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาสินค้าให้สร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าทางการตลาดตลอดจนการจัดการ      ด้านการตลาดในเชิงรุก เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งจะนำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดลำพูนด้วย.

 

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้