“จตุพร”ปลุกแนวปลูกป่าบนพื้นที่บ่อขยะเดิมพร้อมดูเครื่องต้นแบบบดย่อยสลายขยะผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์

“จตุพร”ปลุกแนวปลูกป่าบนพื้นที่บ่อขยะเดิมพร้อมดูเครื่องต้นแบบบดย่อยสลายขยะผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษดูเครื่องบดต้นแบบนำเศษขยะมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ พร้อมนำไปศึกษาหวังกระจายให้องค์กรปกครองส่วนทอ้งถิ่นได้นำไปใช้ พร้อมเป็นประธานปลูกต้นไม้ในพื้นที่บ่อขยะเดิมของทต.สันมหาพน-เมืองแกนพัฒนา ปลุกแนวร่วมชาวบ้านร่วมแก้ปัญหา

ที่ร้านโอ้กะจู๋ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษและคณะ เดินทางไปชมกระบวนการจัดการขยะอินทรีย์เพื่อลดการเผา จากเครื่องบดซึ่งเป็นต้นแบบที่จังหวัดเชียงใหม่จะได้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลจำนวน 3 เครื่อง โครงการตามแนวทางการสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้เศรษฐกิจภายในประเทศ ประจำปีงบประมาณรายจ่าย 2560(เพิ่มเติม) โดยมีนายชัดชาญ เอกชัยพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี รีนิวเอเบิล จำกัด ผู้นำเข้าเครื่องจักร EWA ซึ่งมีระบบการแปรรูปอินทรีย์สารจากขยะ เศษวัชพืช ผักตบชวา เปลือกและซังข้าวโพด รวมถึงฟางข้าวให้เป็นสารตั้งต้นของปุ๋ยอินทรีย์

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า เนื่องจากทราบว่าที่นี่มีการนำเครื่อง EWA มาใช้ในการจัดการเศษขยะและพัฒนามาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ โดยใช้เวลาเพียง 2 วัน ก็สามารถนำขยะที่ผ่านกระบวนการนี้ไปทำเป็นปุ๋ยได้ ซึ่งปัจจุบันก็ทราบดีว่าปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ แต่การจัดการจะมุ่งเน้นการจัดการที่ต้นทางก่อนโดยใช้ 3 Rคือ Reduce คือ การลดการใช้ Reuse คือ การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด โดยการนำสิ่งของเครื่องใช้ มาใช้ซ้ำและ Recycle คือ การนำหรือเลือกใช้ทรัพยากรที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการจัดเก็บและกำจัด

“ที่มาดูระบบในครั้งนี้ก็น่าสนใจ อย่างไรก็ตามทางกรมควบคุมมลพิษจะขอไปศึกษาดูก่อนว่าจะสามารถนำไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ได้หรือไม่ ถ้าระบบนี้สามารถนำไปใช้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ได้ ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะ รวมไปถึงเรื่องการลดการเผาเศษวัสดุ พืชผลทางการเกษตร เศษกิ่งไม้ วัชพืชและนำไปสู่การลดการเผาที่สร้างปัญหาหมอกควันมลพิษให้กับภาคเหนือด้วย”นายจตุพร กล่าว

ทางด้านนายชัดชาญ เอกชัยพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี รีนิวเอเบิล จำกัด กล่าวว่า เครื่อง EWA ซึ่งมีระบบการแปรรูปอินทรีย์สารจากขยะ เศษวัชพืช ผักตบชวา เปลือกและซังข้าวโพด รวมถึงฟางข้าวให้เป็นสารตั้งต้นของปุ๋ยอินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเวลาเพียง 24-72 ชั่วโมงขึ้นอยู่กับลักษณะของวัตถุดิบ โดยในกระบวนการจะเร่งเร้าจุลินทรีย์ที่มีอยู่ให้เจริญเติบโตและทำปฏิกิริยาอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความร้อนขึ้นสูงถึง 65 องศาเซลเซียส และบ่มตัวอีกระยะหนึ่งซึ่งจะทำให้จุลินทรีย์ต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถูกทำลายไป จึงเป็นผลให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“การทำงานของเครื่อง EWA นี้ 1 ตู้ สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพสูงถึง 2,400 ตันต่อปี คิดเป็นพื้นที่นาอินทรีย์ประมาณ 4,800 ไร่ และกาทำงานของเครื่องนี้ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการย่อยสลายวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้ 884 ตัน เทียบเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการย่อยสลายขยะชุมชนได้ 374 ตัน เทียบเท่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”นายชัดชาญ กล่าวและว่า

ที่ผ่านมาทางบริษัทนำเครื่องนี้มาร่วมในโครงการเฉลิมพระเกียรติ และถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2557 ร่วมกับกรมทหารราบที่ 21 เทศบาลบ้านสวน จ.ชลบุรี โดยส่งมอบปุ๋ยที่ผลิตจากเครื่องนี้เป็นการแปรรูปอินทรีย์สารจากขยะให้กับชาวนาจำนวน 50 ตัน และโครงการเฉลิมพระเกียรติ และถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช 5 ธันวาคม 2557 เป็นโครงการที่ 2 โดยนายไมตรี อินทุสุต รองปลัดก.มหาดไทยขณะนั้นและเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเชค ประจำประเทศไทย รวมกับบริษัทได้ส่งมอบปุ๋ยซึ่งผลิตจากเครื่อง EWA จำนวน 500 ตันให้กับชาวนาและเกษตรกรในจังหวัดพะเยาและยังได้ร่วมกับจังหวัดทหารบกพะเยา อบจ.พะเยาส่งมอบปุ๋ยจากการแปรรูปผักตบชวา เปลือกและซังข้าวโพดให้กับชาวบ้านจำนวน 600 ตันด้วย

ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษยังได้เป็นประธานปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่า และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่บ่อขยะเดิมของเทศบาลตำบลสันมหาพนและเทศบาลเมือง เมืองแกนพัฒนา บนเนื้อที่กว่า 6 ไร่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอินทขิลด้วย

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษมีนโยบายที่จะนำสถานที่ทิ้งขยะหรือบ่อฝังกลบขยะเดิมที่อยู่ในเขตป่ามาฟื้นฟูเป็นป่าหรือ West tp Forest การปลูกต้นไม้ในวันนี้จึงถือเป็นพื้นที่นำร่องที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการขึ้น และเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีบ่อขยะที่ไม่ถูกต้องอยู่กว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ ทางกรมควบคุมมลพิษจะดำเนินการปิดบ่อขยะเหล่านี้ให้หมด และการจัดการขยะของท้องถิ่นจะต้องเข้าสู่โรดแมพด้วย  ที่ี่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษได้ให้จังหวัดต่างๆ สำรวจพื้นที่ที่เป็นบ่อขยะฝังกลบ ขณะนี้มีบ่อขยะที่ปิดดำเนินการแล้วกว่า 2,000 – 3,000 แห่ง ทั่วประเทศ ทั้งในเขตป่าและพื้นที่ของเอกชน ดังนั้น กรมควบคุมมลพิษจึงจัดทำโครงการ West To Forest หรือการนำพื้นที่ขยะไปปลูกป่า เพื่อดำเนินการปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว คาดว่าจะสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้กว่า 10,000 ไร่ สำหรับบ่อที่ยังไม่มีการปิดให้มีการปลูกต้นไม้โดยรอบพื้นที่ เพื่อดูแลเรื่องกลิ่นและการชะล้างพังทลายของดินรวมทั้งปิดทัศนียภาพที่อุดจาด เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศต่อไป

“ต่อไปในส่วนของการขนและกำจัดขยะจากที่เทศบาลตำบลสันมหาพนและเทศบาลเมือง เมืองแกนพัฒนาได้นำมาทิ้งที่บ่อขยะแห่งนี้และได้ปิดบ่อมากว่า 10 ปีโดยปัจุบันทต.สันมหาพนนำไปกำจัดที่บ่อขยะของเอกชนที่อ.แม่ริมและทบ.เมืองเมืองแกนพัฒนานำไปกำจัดที่บ.บ้านตาลกรุ๊ปอ.ฮอดแล้วมาช่วยกันฟื้นฟูพื้นที่แห่งนี้โดยปลูกป่าขึ้นมาทดแทน อนาคตพื้นที่แห่งนี้ก็จะเป็นแหล่งเรียนรู้ เพราะตั้งอยู่ในจุดที่เห็นทัศนียภาพในพื้นที่รอบทิศทางได้อย่างสวยงามด้วย ตอนนี้มีหนังสือแจ้งไปยังทุกจังหวัดให้สำรวจบ่อขยะ และให้ดำเนินการปิดบ่อขยะที่ดำเนินการไม่ถูกต้อง เรื่องขยะนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญเป็นนโยบายของรัฐบาล และทางจังหวัดด้วย”นายจตุพร กล่าวชี้แจง.

 

You may also like

อาดิดาสเปิดตัว ADIDAS OUTLET CENTRAL CHIANGMAI AIRPORT พร้อมส่งโปรฯ แรง ฉลองสาขาใหม่ใหญ่สุดในภาคเหนือ มอบส่วนลดกว่า 60% ให้เหล่าขาช้อป

จำนวนผู้