“งดเหล้างานศพ” ลดภาระผู้สูญเสีย

“งดเหล้างานศพ” ลดภาระผู้สูญเสีย

ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่สูงขึ้นทุกวัน ประกอบกับค่านิยมการดื่มเหล้าในงานศพ ทำให้แกนนำชาวบ้านสัน หมู่ 4 ต.ทาขุมเงิน อ.แม่ทา จ.ลำพูน ตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมา ทั้งหนี้สิน การพนัน การทะเลาะวิวาทย์ จึงได้เชิญคณะกรรมการหมู่บ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน และตัวแทนกลุ่มต่างๆ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้สูงอายุ ศิลปินพื้นบ้าน กลุ่มใช้น้ำเพื่อการเกษตร กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มสวัสดิการชุมชน และข้าราชการที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน มาหารือกัน

บุญทับ แสนแก้วกาศ ผู้ใหญ่บ้านสัน เล่าว่า เมื่อมีงานศพในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่ญาติจะเก็บศพไว้ทำบุญก่อนฌาปนกิจ ราว 2-3 คืน พบว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 1.5 แสนบาท โดย 50% หรือเฉลี่ยวันละ 2.0-2.8 หมื่นบาท เป็นค่าเหล้าและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ ซึ่งถ้าหากเจ้าภาพมีฐานะก็ไม่เดือดร้อนนัก แต่งานศพคืองานที่เจ้าภาพไม่ได้ตระเตรียมไว้ล่วงหน้า ความสูญเสียทางใจมีมากพอแล้ว ยังต้องสูญเสียทรัพย์อีกมหาศาล เพื่อดูแลเอาใจคนในหมู่บ้าน หากจะไม่เลี้ยงเหล้าเบียร์ในขณะที่งานศพอื่นๆ เลี้ยง ก็รู้สึกผิด เสมือนไม่มีน้ำใจตอบแทนคนมาช่วยงาน ค่านิยมเหล่านี้จึงเท่ากับการซ้ำเติมเจ้าภาพให้ทุกข์หนักขึ้นมากกว่าเดิมเมื่อนำปัญหานี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของหมู่บ้าน ในปี 2553 ก็มีมติ “งดเหล้าในงานศพ” ช่วยลดภาระของเจ้าภาพได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ 100% เพราะหลังจากฌาปนกิจศพแล้ว ยังมีการเลี้ยงเหล้าตอบแทนคนมาช่วยงาน ซึ่งเรียกกันว่า“วันล้างผาม“ ทำให้มีค่าใช้จ่ายเฉพาะในส่วนนี้ประมาณ 2 หมื่นบาท และในรายที่มีญาติพี่น้อง หรือคนรู้จักมาก ค่าเหล้าเบียร์ในวันล้างผามจะพุ่งสูงขึ้นถึง 3.5 หมื่นบาท

“การเลี้ยงเหล้าเบียร์ ส่งผลให้วันล้างผามยืดออกไป แทนที่หลังฌาปนกิจศพ ทุกคนจะช่วยกันเคลียร์สถานที่จัดงาน เก็บโต๊ะ เต็นท์ ถ้วยชาม กลับปล่อยให้ยื้อไปถึงวันรุ่งขึ้น ผลลัพธ์คือเจ้าภาพต้องสิ้นเปลืองค่าอาหาร และเครื่องดื่มเพิ่มอีก 1 วัน พอมีโอกาสเข้าร่วมโครงการร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่ กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนัก 6 จึงถือโอกาสทำประชาคม ยกระดับโครงการงดเหล้าในงานศพ ให้เป็น “งานศพปลอดเหล้า” งดเลี้ยงเหล้าในงานศพ และกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากงานศพ 100%” ผู้ใหญ่บ้านสัน อธิบายแม้จะมีเสียงคัดค้านจากคนที่เคยดื่มกินอยู่บ้าง แต่เมื่อเข้าโครงการ แล้วทำป้ายรณรงค์ติดตามถนน ทำสปอตโฆษณาคล้ายค่าวซอของทางภาคเหนือ ไว้เปิดเสียงตามสาย และในงานศพ รวมทั้งให้พระสงฆ์ช่วยพูดให้เห็นถึงโทษภัยของเหล้าเมื่อมีโอกาสในช่วงทำพิธีกรรมต่างๆ ก็เริ่มมีผู้สนใจทยอยมาลงชื่อเข้าร่วมโครงการ 92 ครัวเรือน และจากการทดลองงานศพแรก สำรวจค่าใช้จ่ายตลอดงานแค่ 5 หมื่นบาทเศษ ชาวบ้านรายอื่นๆ ที่ยังลังเลในช่วงแรก ก็หันมาเข้าโครงการมากขึ้นถึง 241 หลังคาเรือน เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียง 80 หลังคาเรือน

ผู้ใหญ่บ้านสัน กล่าวว่า สิ่งสำคัญเมื่อเจ้าภาพไม่ควักจ่ายในส่วนนี้ ผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย หรือผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล, เทศบาลตำบล ก็ต้องร่วมมือกัน ไม่ควักเงินให้ชาวบ้านที่อาจเข้ามาขอนำไปซื้อเครื่องดื่มมึนเมาด้วย และคนกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทค่อนข้างมากในการขับเคลื่อนกิจกรรมนี้ คือกลุ่มแม่บ้าน ที่ไม่อยากให้สามีดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว จึงสนับสนุนกิจกรรมอย่างเต็มที่โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา ในหมู่บ้านมีงานศพ 19 งาน ไม่เข้าโครงการ ยังเลี้ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียง 1 งาน อีก 18 งาน งดเหล้าอย่างเด็ดขาด ในภาพรวมจึงสามารถประหยัดได้ถึง 1.35 ล้านบาท ถ้าคิดเฉลี่ยค่าใช้จ่ายเฉพาะเหล้า-เบียร์ วันละ 25,000 บาท และแต่ละศพตั้งบำเพ็ญกุศลประมาณ 3 วัน

อภิภู  วังษาวรกูล ผู้รับผิดชอบโครงการร่วมสร้างชุมชนให้น่าอยู่ บ้านสัน หมู่ 4 ต.ทาขุมเงิน อ.แม่ทา จ.ลำพูน กล่าวเสริมว่า ความแตกต่างระหว่างการเลี้ยงเหล้า กับงดแบบเด็ดขาด คือนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายของเจ้าภาพ ทำให้พอมีเงินเหลือบ้างแล้ว ยังตัดปัญหาทะเลาะเบาะแว้งเพราะขาดสติ และการพนันที่มักจะตามมาหลังการดื่ม รวมถึงทำให้ชาวบ้านสุขภาพดีขึ้น มีการเลี้ยงน้ำสมุนไพรมากขึ้น แม้ว่าจะยังมีน้ำอัดลมอยู่บ้างก็ตามพอมีงานศพ ผู้นำจะประกาศทั้งเสียงตามสาย และในงาน ห้ามเลี้ยงเหล้า พร้อมทั้งขึงป้ายขนาดใหญ่ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นงานศพปลอดเหล้า ในวันสุดท้าย พอเคลื่อนศพออกจากบ้านหรือวัดที่จัดงานไปฌาปนกิจยังสุสาน ชาวบ้านที่ไม่ไปส่งศพ จะช่วยกันรื้อเต็นท์ เก็บโต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ อย่างรวดเร็ว ทำให้เสร็จภายในเย็นวันนั้น และพอเริ่มงดเหล้าในงานศพได้ งานอื่นๆ เช่น งานบุญ ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ วันพระ วันสำคัญทางศาสนา ก็ขอความร่วมมือไม่ให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในคนที่ติดเหล้าหรือติดเพื่อนฝูง ก็ดูเหมือนจะค่อยๆ ลดปริมาณการดื่มในชีวิตประจำวันไปโดยปริยาย

ซึ่งสถิติการดื่มสุรา มีการสุ่มสำรวจก่อนทำโครงการ 100  ครัวเรือน (จากทั้งหมู่บ้าน 250 ครัวเรือน)  คิดเป็นจำนวนคน  377  คน  พบว่ามีผู้ดื่มสุรา 196  คน  และไม่ดื่มสุรา 181 คน  โดย 91 ครัวเรือนมีสมาชิกในครัวเรือนดื่มสุรา จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม 0-99 บาท/คน/วัน จำนวน 144 คน ค่าใช้จ่าย 100-199 บาท/คน/วัน จำนวน 49 คน และหนักสุด 200-300 บาท/คน/วัน จำนวน 3 คน ภายหลังจากทำโครงการแล้ว มีการสำรวจซ้ำ ก็เห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลดลง 50%ด้านบรรเลง พรหมกาศ ชายสูงอายุ วัย 68 ปี คนเลิกเหล้าต้นแบบ ของบ้านสัน หมู่ 4 เล่าว่า เริ่มดื่มตั้งแต่อายุ 17 ปี พอถึงช่วงเย็นก็จะออกจากบ้านไปหาเพื่อนเพื่อกินเหล้าทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ก๊ง หรือ 20 บาท ก็ได้พูดคุยกับเพื่อนฝูงอย่างออกรสชาติ วันไหนกลับมาถึงบ้าน ภรรยายังทำกับข้าวไม่เสร็จ ก็จะกลับไปดื่มเหล้าต่อกับเพื่อนอีก ทำให้มีปากเสียง ทะเลาะกับภรรยาแทบไม่เว้นแต่ละวัน

“อยู่ๆ วันหนึ่งก็ฉุกคิดได้ว่า หากเมาเหล้าหกล้ม เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายอันเนื่องมาจากสุรา ครอบครัวจะเดือดร้อนเพียงใด จึงเลิกแบบหักดิบ ไม่ดื่มอีกเลย แม้เพื่อนจะชักชวน และคะยั้นคะยอให้ดื่ม ก็ยกน้ำเปล่า หรือน้ำอัดลมแทน แรกๆ มีอาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ต้องใช้ความอดทนคอยยับยั้งชั่งใจ ไม่ถึงเดือนก็ปกติ” ลุงบรรเลง กล่าวสิ่งที่ภาคภูมิใจ คือลูกชายเห็นพ่อเลิกเหล้า ก็เลิกดื่มตามพ่อ   มาถึงวันนี้ไม่ดื่มเหล้ามาเกือบ 5 ปีแล้ว สุขภาพร่างกายก็ฟื้นตัว แข็งแรง ทำงานมีสมาธิยิ่งขึ้น การทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัวลดลง ความสุข สงบ เกิดขึ้นได้ แค่เลิกดื่มเหล้า.

You may also like

 รมช.คมนาคมเปิดการทดลองเดินรถโดยสารHOP&GO เชื่อมโยงโครงข่ายสาธารณะไปยัง 7 แหล่งท่องเที่ยวในเชียงใหม่

จำนวนผู้