คนเชียงใหม่ส่งเสริม “เกษตรปลอดสาร” สร้างสังคมแห่งการบริโภคอาหารอินทรีย์

คนเชียงใหม่ส่งเสริม “เกษตรปลอดสาร” สร้างสังคมแห่งการบริโภคอาหารอินทรีย์

ระแสรักษ์สุขภาพ ทำให้คนหันมาใส่ใจกับการเลือกซื้อ เลือกรับประทานอาหารมากขึ้น วัตถุดิบประเภทผัก ผลไม้ จึงถูกคัดสรรเป็นพิเศษ ผักผลไม้สีสันงดงาม ไร้มดแมงไต่ตอม เริ่มถูกมองข้าม เพราะผู้บริโภคไม่มั่นใจในความปลอดภัยจากสารเคมี เกษตรทางเลือก หรือเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นอีกอาชีพหนึ่ง ที่เกษตรกรเริ่มให้ความสนใจ และทดลองทำอย่างกว้างขวางหากจะมีสักกี่ราย ที่อดทน รอคอย และก้าวข้ามจากเกษตรเคมีมาสู่เกษตรปลอดสารได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะไม่ใช่แค่เปลี่ยนจากใช้สารเคมี มาใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือสารชีวภาพ แล้วทุกอย่างจะสำเร็จบริบูรณ์ แต่ต้องใช้หัวใจ แรงกาย ความพยายาม และเวลา ในการปรับสมดุลของสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน น้ำ ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยด้วย ดังเช่นที่สวนข้างบ้านของอำภา วงค์จักร เกษตรกรอินทรีย์บ้านหนองหลวงพัฒนา ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ และสมาชิกโครงการเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชน สู่สังคมแห่งการบริโภคอาหารอินทรีย์ (เกษตรกร ตลาด และผู้บริโภคสีเขียว) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  ที่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี

ผัก ผลไม้ ที่ผลิดอกออกผล ทั้งผักบุ้ง คะน้า ผักกาด ต้นหอม ผักชี กะหล่ำ มะเขือ ถั่วฝักยาว  ทำให้ ป้าอำภา แทบหายจากความเหนื่อยล้าในการทำงานเป็นปลิดทิ้ง เพราะนั่นคือแหล่งอาหารของคนในครอบครัว ที่ปลอดภัยจากสารเคมี และยังสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ“เริ่มทำเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ปลายปี 2556 โดยก่อนหน้านี้ปล่อยที่ดินประมาณ 15 ไร่ รกร้างมานานกว่า 30 ปี กระทั่งได้อบรมกับ อ.ชมชวน บุญระหงษ์ รองผู้อำนวยวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  และสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน จึงกลับมาริเริ่มทำในที่ดินของตัวเองอย่างจริงจัง ซึ่งทราบทีหลังว่าจากเพื่อนที่ร่วมอบรมในรุ่นเดียวกัน 52 คน  มีคนกลับมาทำจริงแค่ 2 คนเท่านั้น เริ่มจากการปลูกผักคะน้าในแปลงเล็กๆ และขยายไปสู่ผักชนิดอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งไม้ผล เช่น ทับทิม ฝรั่ง แก้วมังกร เพื่อให้เกิดความหลากหลาย” ป้าอำภา อธิบาย ก่อนเล่าต่อไปว่าคนทำเกษตรอินทรีย์ต้องขยัน หมั่นดูแลรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ยหมัก และป้องกันศัตรูพืช ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่ปลูกแบบผสมผสานหลากหลายชนิด โรคและแมลงจะได้ไม่ระบาด พอผักเริ่มโต ก็จะให้ลูกสาวช่วยเก็บขาย ทำบัญชีทุกวัน และรวมเงินจากการขายพืชผักไว้เป็นมัดต่างหาก สักระยะหนึ่งก็จะสามารถเก็บรอมไว้เป็นค่าเทอมส่งหลานเรียนได้อย่างต่อเนื่องป้าอำภา บอกว่า การให้ลูกหลานมีส่วนช่วย ทำให้พวกเขาซึมซับการเป็นเกษตรกรอินทรีย์โดยอัตโนมัติ ทุกคนรับรู้ถึงความสุขจากการเห็นพืชผักที่ปลูกไว้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาเก็บก็จะพิถีพิถันเพื่อให้ได้ผักสวยงามไว้บริโภค หรือจำหน่าย ทำให้ทุกคนมั่นใจว่าเป็นอาหารปลอดภัย รับประทานแล้วช่วยให้สุขภาพดี ทั้งกระบวนการผลิตยังไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมด้วยความตั้งใจอยากเห็นชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลง และทุกคนในครอบครัว ชุมชน มีสุขภาพดี ทำให้ป้าอำภา ไม่หวงความรู้ แต่พร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนในชุมชนและบุคคลที่สนใจตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ หรือเคล็ดลับเกี่ยวกับการปลูกพืชผักชนิดต่างๆ เพื่อสร้างความร่วมมือ และขยายภาคี เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นอีกด้วยอโนชา ปาระมีสัก หัวหน้าโครงการเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชน สู่สังคมแห่งการบริโภคอาหารอินทรีย์ (เกษตรกร ตลาด และผู้บริโภคสีเขียว) ของสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เล่าว่า ป้าอำภา เป็น 1 ในสมาชิกของโครงการ มาตั้งแต่เริ่มต้นช่วงปลายปี 2559 โดยโครงการเน้นทำงานสู่การขับเคลื่อนการบริโภคอาหารอินทรีย์อย่างครบวงจร ใน 5 แผนงานหลัก คือ ด้านเกษตรกร ด้านการแปรรูป ด้านผู้บริโภค ด้านผู้ประกอบการ แหล่งจำหน่ายอาหารอินทรีย์ และการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย“จุดอ่อนของเกษตรกรไทยมีหลายด้าน เช่น Logistic หรือการขนส่ง ยิ่งสินค้าถูกขนส่งระยะทางไกลแค่ไหน ค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว นอกจากนี้ส่วนใหญ่ยังคิดต้นทุนการผลิตไม่ได้ ซ้ำมักจะไม่คิดค่าแรงของตัวเอง ทั้งที่ทำงานหนักตลอดทั้งวัน รวมถึงไม่มีการบริหารจัดการเงินอย่างเป็นระบบ ทางโครงการจึงเข้ามาอบรมเรื่องเหล่านี้ พร้อมกับให้เกษตรกรตั้งราคาผลผลิต โดยอิงจากราคากลางของข่วงเกษตรอินทรีย์ ที่ออกมาทุก 3 เดือน” อโนชา อธิบาย

ช่วงแรกโครงการค้นหาคนที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์มาเป็นสมาชิกได้ราว 50 คน แต่ถึงปัจจุบันมีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังแค่ 30 ราย และ10 รายเป็นการปลูกเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนเป็นหลัก อีก 20 ราย กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์เป็นอาชีพอย่างจริงจัง เพื่อให้มีผลผลิตจำหน่ายต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปี ดังนั้นในการทำงาน จึงไม่ใช่แค่การอบรมภาคทฤษฎี ต้องลงมือสาธิต และให้เขาได้ปฏิบัติด้วยตนเองอย่างจริงจังตัวอย่างที่บ้านท่ายาว หมู่ 11 ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย ซึ่งแม้จะเคยทำเกษตรกรรมกันมาก่อน และมีที่นาเป็นของตัวเอง แต่อุปสรรคคือไม่มีน้ำ ระบบชลประทานเข้าไม่ถึง ในอดีตการปลูกพืชผักหลังทำนาจึงปล่อยแบบธรรมชาติ ไม่ได้ใส่ใจมากนัก เมื่อชาวบ้านส่วนหนึ่งสนใจร่วมโครงการ จึงต้องมีทำความเข้าใจ และเริ่มอบรมเชิงปฏิบัติการ ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์สูตรต่างๆ“ชาวบ้านขออนุญาตเจ้าของที่ดิน ใช้พื้นที่ 2 งานเศษ กลางหมู่บ้าน ทำแปลงรวม สำหรับ 30 ครัวเรือนนำร่อง ปลูกผักกาด ข้าวโพด มะเขือ ผักบุ้ง ฟักทอง ตะไคร้ ผักชี พริก โดยไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้น้ำหมัก สารอินทรีย์ที่ช่วยกันทำเป็นทั้งปุ๋ย และช่วยไล่แมลง ซึ่งเมื่อชาวบ้านเดินทางผ่านไปมา ก็จะเห็นแปลงพืชผักที่สามารถนำไปรับประทานได้อย่างมั่นใจถึงความปลอดภัยจากสารเคมี กระตุ้นให้อยากเรียนรู้และทดลองทำบ้าง” หัวหน้าโครงการ กล่าวย้ำหากไม่เพียงแค่มุมของการผลิตเท่านั้นที่มีปัญหา และต้องเร่งแก้ไขขับเคลื่อน ในส่วนของผู้บริโภคเอง ก็ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ไม่เข้าใจธรรมชาติ มักจะต้องการกินผักผลไม้ชนิดเดียวกันซ้ำๆ ทั้งปี อย่างกะหล่ำ บล็อกโคลี่ ทั้งที่ความจริงแล้วต้องเลือกกินตามฤดูกาล เพื่อให้ได้พืชผักปลอดภัย และราคาไม่สูงเกินไป  ขณะเดียวกันเมื่อหันมามองด้านตลาดสีเขียวที่มีอยู่ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตลาดในชุมชน ตลาดน้อยอินทรีย์ เจเจมาร์เก็ต หรือข่วงเกษตรอินทรีย์ ซึ่งเปิดจำหน่ายสัปดาห์ละ 3 วัน คือวันอังคาร พฤหัสบดี และวันศุกร์ ถือเป็นแหล่งกระจายสินค้าสู่ชุมชน และผู้บริโภคที่เน้นให้ความสำคัญกับสุขภาพได้เป็นอย่างดี.

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้