กลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวานรับมือ​หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดระบาดเร่งสร้างการรับรู้ ควบคุมและป้องกัน

กลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวานรับมือ​หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดระบาดเร่งสร้างการรับรู้ ควบคุมและป้องกัน

- in headline, การศึกษา-เกษตรกร

กลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป รับมือ​หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ระบาดเกือบทั่วประเทศ เร่งสร้างการรับรู้มาตรการควบคุมและป้องกัน แนะนำเกษตรกรให้เพิ่มการเฝ้าระวัง และใช้สารเคมีให้ถูกต้อง

ดร.องอาจ กิตติคุณชัย อุปนายกและประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวถึงสถาณการณ์การระบาดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall Armyworm) ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งสร้างความเสียหายแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหวาน และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมข้าวโพดหวานของไทยเป็นอย่างมากว่า หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญของข้าวโพด และพืชอาหารมากกว่า 80 ชนิด เช่น  ข้าว อ้อย พืชตระกูลผักทั้งหมดรวมไปถึงไม้ดอกไม้ประดับ

หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด มีแหล่งกำเนิดจากพื้นที่เขตร้อนของอเมริกาใต้ และทางใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา  ปลายเดือนมกราคม 2559 พบการแพร่ระบาดเข้าสู่ทวีปแอฟริกา หลังจากนั้นในปี 2561 จึงพบการระบาดเข้ามายังทวีปเอเชียโดยเริ่มต้นที่ประเทศอินเดีย และ เมื่อปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ก็พบการระบาดในประเทศไทย ซึ่งพบในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดหลายจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันตก โดยเฉพาะในจังหวัดกำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท สระบุรี และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ทั้งนี้หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดมีวงจรชีวิตราว 30 – 40 วัน แบ่งเป็นระยะไข่ 2-3 วัน ระยะตัวหนอน 14-22 วัน ซึ่งระยะสุดท้ายของตัวหนอนจะลงดินเพื่อเข้าสู่ระยะดักแด้ 7-13 วัน จึงออกเป็นตัวเต็มวัยซึ่งมีชีวิตอยู่นาน 10-21 วัน ตัวเต็มวัยสามารถบินได้ระยะทางเฉลี่ย 100 กิโลเมตรต่อคืน ทำให้การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วและกระจายตัวได้ทุกทิศทาง นอกจากนี้ใน 1 ชั่วชีวิตของเพศเมีย 1 ตัวจะวางไข่ได้ประมาณ 1,500-2,000 ฟอง โดยเข้าไปวางไข่ในต้นข้าวโพดส่วนที่เป็นกรวย แล้วฝังตัวอยู่ในนั้น ซึ่งทำให้เกษตรกรมองไม่เห็น การฉีดพ่นสารเคมีจึงไม่ได้ผล กอรปกับภูมิอากาศที่ร้อนชื้นในประเทศไทย ยิ่งทำให้การระบาดรวดเร็วและรุนแรง

การเข้าทำลายพืชของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด จะเกิดขึ้นในระยะที่เป็นตัวหนอนเท่านั้น เริ่มตั้งแต่อายุประมาณ 7 วัน (ระยะหนอน) จนกระทั่งออกฝัก โดยกัดกินยอดและใบข้าวโพดแหว่ง ทำลายช่อดอกตัวผู้ กัดกินไหม ฝัก เมล็ด และจะพบตัวหนอนหลบซ่อนแสงอยู่ที่ยอดหรือโคนกาบใบข้าวโพด ความเสียหายที่ได้รับคือทำให้ต้นอ่อนตาย ต้นแก่ไม่เจริญเติบโต ฝักลีบเล็กไม่สมบูรณ์ หากระบาดรุนแรงจะทำให้ผลผลิตเสียหายถึงร้อยละ 73 ของพื้นที่

อุปนายกและประธานกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดหวาน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวอีกว่า ทางสมาคมฯได้ร่วมรณรงค์สร้างการรับรู้มาตรการควบคุมและป้องกัน แนะนำเกษตรกรให้เพิ่มการเฝ้าระวัง และใช้สารเคมีให้ถูกต้อง โดยนำข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตรเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์และสารเคมีตามหลักวิชาการ คือ หากพบหนอนขนาดเล็กให้เก็บหนอนทำลายทิ้ง และใช้ชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อ BT สายพันธุ์ไอซาไว หรือ สายพันธุ์เคอร์สตากี้ ชนิดผง อัตรา 40-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 4-7 วัน เมื่อพบการระบาด หากพบไข่ให้ทำลายโดยเก็บกลุ่มไข่ทำลายทิ้งและใช้แมลงหางหนีบ ส่วนตัวเต็มวัยให้ทำลายโดยใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลืองจำนวน 80 กับดัก    ต่อไร่ สำหรับหนอนขนาดใหญ่ให้ทำลายโดยใช้แมลงตัวห้ำ ได้แก่ แมลงหางหนีบหรือมวนพิฆาต

ในกรณีที่ใช้สารเคมีให้ใช้ชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่  1.สารสไปนีโทแรม (spinetoram) 12% SC (อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร)   2.สารคลอแรนทรานิลิโพรล (chlorantraniliprole) 5.17% SC (อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร) หรือ สาร  ฟลูเบนไดอะไมด์ (flubendiamide) 20% WG (อัตรา 6 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร)   3.สารคลอร์ฟีนาเพอร์ (chlorfenapyr) 10% SC (อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร)   4.สารอินดอกซาคาร์บ (indoxacarb) 15% SC (อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร)  ทั้งนี้ ให้พ่นสารฆ่าแมลงทุก 7 วัน ติดต่อกัน 2-4 ครั้ง และเนื่องจากวงจรชีวิตสั้น ราว 30 วัน ทำให้เกิดการดื้อยาสูงมาก สารเคมีที่ใช้ทั่วไปในกลุ่มคาร์บาเมต ออร์กาโนฟอสเฟต หรือไพริทอย มักไม่ได้ผล จึงต้องสลับกลุ่มสารทุก 30 วัน เพื่อลดความต้านทานสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชของหนอนชนิดนี้

ทั้งนี้การควบคุมหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดต้องใช้วิธีการที่บูรณการร่วมหลายๆ วิธี เนื่องจากยังไม่มีผลิตภัณฑ์ใดเพียงอย่างเดียว ที่สามารถใช้ป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้ ต้องใช้ร่วมกันทั้งชนิดเมล็ดพันธุ์ การใช้สารคลุกเมล็ด (ช่วยป้องกันหนอนตั้งแต่เริ่มปลูก ไปจนถึง 18-20 วัน) การใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชฉีดพ่นทางใบ (ใช้ตามที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ จะดีที่สุด) และขั้นตอนการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เพื่อการแก้ปัญหาการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ.

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้