กมธ.คมนาคม สนช.เสนอท่าอากาศยานเชียงใหม่ลดพื้นที่จอดรถ แก้จราจรติดขัด-ลดความหนาแน่นของยานพาหนะ

กมธ.คมนาคม สนช.เสนอท่าอากาศยานเชียงใหม่ลดพื้นที่จอดรถ แก้จราจรติดขัด-ลดความหนาแน่นของยานพาหนะ

กรรมาธิการคมนาคม สนช.ลงพื้นที่ เสนอให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่ลดพื้นที่จอดรถ เพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัดและลดความหนาแน่นของยานพาหนะ ชี้แผนแม่บทพัฒนาฯระยะ 20 ปีไม่ตอบโจทย์ ระบุยิ่งเพิ่มอาคารจอดรถก็ยิ่งจะมีปัญหา ขณะที่แขวงทางหลวงที่ 2 สบช่องอ้อนกรรมาธิการฯผลักดันงบเพื่อขยายผิวจราจรเส้นทางหน้าสนามบิน

ที่ห้องประชุมอาคารสำนักงานท่าอากาศยานจังหวัดเชียงใหม่ นายวันชัย ศารทูลทัต ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการคมนาคมทางบกและทางราง ในคณะ กรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานและรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับปัญหาการจราจรบริเวณด้านหน้าท่าอากาศยานจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นาวาอากาศตรี มณธนิก รักงาม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่และคณะได้ให้การต้อนรับ

ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการคมนาคมทางบกและทางราง ในคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการฯได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานและรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับปัญหาการจราจร บริเวณด้านหน้าท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย จังหวัดเชียงราย และวันนี้ได้มาที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพบเห็นสภาพปัญหาที่คล้ายกันคือการจราจรหนาแน่น ติดขัดและทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวก โดยในช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ทางสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)จะจัดสัญจรมาที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน อย่างไรก็ตามในครั้งนี้อยากจะทราบแผนการแก้ไขปัญหาจากท่าอากาศยานเชียงใหม่ในฐานะที่เป็นสนามบินนานาชาติด้วยว่ามีแผนอย่างไรบ้าง

ทางด้าน นาวาอากาศตรี มณธนิก รักงาม ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องของการจัดระบบการจราจรหรือการเดินรถรอบท่าอากาศยานเชียงใหม่ทางงานจราจรตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ร่วมวางแผนและได้จัดระบบการเดินรถแบบทางเดียวมาตั้งแต่ผู้กำกับการ กลุ่มงานจราจรฯคนเก่า หลังจากที่เคยจัดให้มีระบบเดินรถสวนกันได้แต่เนื่องจากปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับอุปสรรคในเรื่องพื้นที่และเส้นทาง แม้ล่าสุดทางท่าอากาศยานเชียงใหม่ได้ปรับพื้นที่บริเวณลานจอดรถที่เดิมใกล้ทางเข้าเพื่อเพิ่มพื้นที่จอดรถให้มากขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอ

ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีพื้นที่รวมทั้งอาคารผู้โดยสารในประเทศและระหว่างประเทศรวม 31,301 ตรม.ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 8 ล้านคนต่อปี และมีที่จอดรถรองรับได้ประมาณ 900 คัน แต่ปัจจุบันมีผู้โดยสารที่ผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่ตัวเลขล่าสุด9.5 ล้านปี ทั้งนี้ตามแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ซึ่งมี 3 ระยะคือ สั้น กลางและยาวเริ่มจากปี 2559-2568(ระยะสั้น-กลาง)จะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ พร้อมกับอาคารจอดรถโดยรองรับผู้โดยสารได้ 7 ล้านคนต่อปีและจอดรถได้ 3,500 คัน แต่ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานเชียงใหม่สามารถรองรับได้ถึง 18 ล้านคนต่อปี

แผนระยะยาวตั้งแต่ปี 2569-2573 จะเพิ่มอาคารจอดรถไปทางทิศเหนือโดยต่อจากอาคารเดิมสามารถจอดรถได้อีก 2,500 คันและปรับสภาพลานจอดรถปัจจุบันใหม่ รวมถึงเส้นทางเดินรถด้วย ซึ่งจะรองรับเที่ยวบินได้ 34 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ลานจอดอากาศยาน 38 หลุมจอด รองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปีมีที่จอดรถยนต์ 6,300 คันโดยการดำเนินงานจะเริ่มเฟสแรกในปลายปีปี 2562

ด้านนายวันชัย ศารทูลทัต ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านการคมนาคมทางบกและทางราง ในคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า หากดูตามแผนพัฒนาของท่าอากาศยานเชียงใหม่แล้วยังไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาการจราจรได้ จึงอยากให้ทางทชม.ทบทวนว่ามีความจำเป็นมากแค่ไหนที่จะต้องมีที่จอดรถ เพราะหากไปเพิ่มพื้นที่จอดรถก็จะยิ่งทำให้การจราจรรอบท่าอากาศยานเชียงใหม่หนาแน่นมากกว่าเดิม ในทุกวันนี้ยังเป็นปัญหามาก แต่ในทางกลับกันหากไม่มีที่จอดรถ ผู้ที่จะมาใช้บริการจะได้มีการปรับตัวเองโดยไม่นำรถส่วนตัวเข้ามาก็จะลดความแออัดลงได้

“ควรจะทำให้มีพื้นที่จอดรถให้น้อยลงหรือไม่มีเลย ผู้โดยสารที่มาใช้บริการก็จะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นไม่ใช่มาเสียเวลาเพราะรถติด ลานจอดรถที่มีอยู่หากไม่ให้จอดแล้วพัฒนาทำเป็นวงเวียนให้รถที่มารับ-ส่งจะดีกว่า ทั้งนี้ก็อยากฝากให้เป็นข้อคิดไว้เพราะจากการลงพื้นที่ท่าอากาศยานเชียงรายก็เจอปัญหาคล้ายๆ กัน ส่วนเรื่องประตูเข้า-ออกสนามบินซึ่งมี 2 ทางนั้นจะแก้ไขหรือมีแผนอย่างไรจะมีคณะกรรมาธิการอีกชุดหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบซึ่งก็คงจะมาติดตามในอนาคตนี้”นายวันชัย กล่าวและว่า

สำหรับเรื่องการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 รวมถึงเรื่องปัญหาลิฟท์ชำรุดซึ่งแต่เดิมทางคณะกรรมาธิการฯต้องการทราบ แต่หลังจากได้รับการชี้แจงกรณีสนามบินแห่งที่ 2 ซึ่งทราบว่าได้มีการศึกษาเรื่องนี้อยู่ ส่วนเรื่องลิฟท์ชำรุดซึ่งหมดอายุการใช้งานมานาน ก็อยากให้ทางท่าอากาศยานเชียงใหม่รีบดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ และปรับเปลี่ยนส่วนที่หมดอายุการใช้งานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้อีก

ขณะที่กรรมาธิการรายหนึ่งเสนอว่าท่าอากาศยานเชียงใหม่ควรจะมีจุดสำหรับให้ผู้โดยสารสามารถเช็คอินได้ในจุดที่อยู่นอกท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อลดความแออัดในสนามบิน แล้วจัดรถไฟฟ้ารางเบาหรือ TRAM รับ-ส่งผู้โดยสารก่อนเครื่องจะออก ซึ่งน่าจะเกิดประโยชน์กว่าการขยายอาคารผู้โดยสารออกไป

ส่วนทางด้านนายรังสรรค์ สุขชัยรังสรรค์ ผอ.แขวงทางหลวงเชียงใหม่ที่ 2 กล่าวว่า สำหรับปัญหาการจราจรบริเวณทางเข้าสนามบิน ในส่วนของแขวงทางหลวงที่ 1 มีแผนดำเนินการและได้เคยเสนอของบประมาณเพิ่มเติมจากกรมทางหลวงจำนวน 10 ล้านบาท ซึ่งได้รับอนุมัติแล้ว แต่เนื่องจากมีปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่งบฯดังกล่าวจึงถูกโยกไปใช้ก่อนและทางกรมฯได้บรรจุไว้ในปีงบประมาณ 2562 แทน

อย่างไรก็ตามแผนงานเดิมคือจะมีการปรับปรุงระบบสัญญาณไฟจราจรซึ่งมีทางแยก 2 ทางแยกก่อนถึงสนามบิน ในขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างปรับระบบไฟที่นำมาใช้ใหม่และประมวลผลการจราจรตั้งแต่เส้นทางที่มาจากอ.หางดง,ถนนมหิดลและจากในตัวเมืองเชียงใหม่ นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงทางกายภาพคือจุดกลับรถในช่องทางจราจรต่างๆ โดยจะปรับเกาะกลางเดิมออกเพื่อเพิ่มผิวการจราจร และปรับปรุงทางเท้าที่บริเวณด้านหน้าห้างสรรพสินค้าให้เล็กลงเพื่อเพิ่มช่องทางจราจรสำหรับรถที่จะเลี้ยวเข้าห้างฯ และรถที่จะมุ่งมาสนามบินเป็นช่องทางพิเศษ ซึ่งแผนงานนี้จะอยู่ในส่วนของเฟสที่ 2 ทั้งนี้หากทางคณะกรรมาธิการฯเห็นชอบและช่วยผลักดันให้งบประมาณลงมาได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรที่แออัดบริเวณทางเข้าสนามบินได้.

You may also like

SUN ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ในรูปแบบ Hybrid Meeting

จำนวนผู้