กรมชลประทาน สนองพระปฐมบรมราชโองการรัชกาลที่ 10 ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำตามแนวพระราชดำริฯ

กรมชลประทาน สนองพระปฐมบรมราชโองการรัชกาลที่ 10 ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำตามแนวพระราชดำริฯ

- in Exclusive, headline, การศึกษา-เกษตรกร

สกู๊ปพิเศษ

กรมชลประทาน สนองพระปฐมบรมราชโองการ ร.10 สั่งการจัดทำแผนปรับปรุงอ่างเก็บน้ำตามแนวพระราชดำริ เพื่อสานต่อพระราชปณิธาน ร.9 ให้เกิดประโยชน์สุขแก่ปวงไพร่ฟ้าประชาราษฎร์

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน  มอบหมายให้นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการจัดทำแผนการพัฒนาและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการครอบคลุมพื้นที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2527 ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชหฤทัยอันมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรของพระองค์

กรมชลประทานได้สนองพระราชดำริโครงการเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการอุปโภค บริโภค โครงการพัฒนาเบ็ดเสร็จลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำปิงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ราษฎรมีที่ดินทำกินและมีแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร และอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี มีงานทำในท้องถิ่นของตนเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมทั้งฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสภาพแวดล้อมในพื้นที่โครงการให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยมีแหล่งเก็บกักน้ำที่ก่อสร้างมานานถึง 37 ปี ประกอบด้วยอ่างเก็บน้ำ 22 แห่ง บ่อบาดาล 42 บ่อ สระเก็บน้ำ 24 แห่ง ประตูระบายน้ำ 4 แห่ง และสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำปิงอีก 8 แห่ง สามารถสนับสนุนพื้นที่เกษตรกรรมได้

สำหรับพื้นที่ศึกษาจะครอบคลุม 2  จังหวัด 3 อำเภอ 4 ตำบล ประกอบด้วย ต.บ้านโฮ่ง ต.หนองปลาสวาย อ.บ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ต.บ้านแปะ ต.แม่สอย อ.จอมทอง และ ต.บ้านตาล อ.ฮอด จังหวัดเชียงใหม่ สภาพโดยรวมในปัจจุบันอ่างเก็บน้ำชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก บางแห่งมีปัญหาการรั่วซึมจึงไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ บางแห่งตัวอ่างมีลักษณะตั้งฉากกับแนวฝนในพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถเก็บน้ำได้เต็มความจุ รวมถึงหัวงานบางแห่งไม่มีอาคารประกอบ และระบบส่งน้ำเดิมที่ใช้อยู่เกิดการชำรุดและใช้งานได้ไม่ดี ทำให้ไม่สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความจุอ่างที่มีอยู่ ส่งผลให้ในพื้นที่ทั้ง 4 ตำบล ประสบปัญหาภัยแล้งเกือบทุกปี

สำหรับการปรับปรุงโครงการครั้งนี้ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทาง เช่น            การเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำเป็นอ่างเก็บน้ำพวงหรืออ่างพวง เนื่องจากพื้นที่รับน้ำของแต่ละอ่างเก็บน้ำจะไม่เท่ากัน และพื้นที่ที่สร้างอ่างเก็บน้ำได้ก็อาจไม่เหมาะสมกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา อ่างเก็บน้ำบางแห่งจึงมีปริมาณน้ำมากเกินจนล้น และอ่างเก็บน้ำบางแห่งก็มีปริมาณน้ำน้อยจนไม่เพียงพอกับความต้องการ เมื่อเชื่อมโยงอ่างเก็บน้ำก็สามารถระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำมากไปสู่อ่างเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย ทำให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุด

การเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำโดยการขุดลอก เสริมความสูงของอาคารระบายน้ำล้น โดยไม่มีการรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้ และใช้งบประมาณน้อย      การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการเดินเครื่องสูบน้ำ เป็นการใช้พลังงานทดแทนที่มีตามธรรมชาติให้เกิดประโยชน์

ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กล่าวอีกว่า กรมชลประทานเห็นถึงปัญหาของโครงการ จึงมอบหมายให้ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท โพธิศิรินทร์ ไทยคอนซัลแต๊นท์ จำกัด และ บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด ทำการศึกษาหาแนวทางปรับปรุงเพื่อให้สามารถใช้งานได้ดังเดิม โดยการจัดทำแผนแม่บทการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำในภาพรวมทั้งหมด และจะคัดเลือกโครงการมาทำการศึกษาความเหมาะสมจำนวน 1 โครงการ เพื่อนำไปดำเนินการให้เกิดผลโดยเร็ว โดยการศึกษาครั้งนี้จะจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียทุกขั้นตอน จำนวน 4 ครั้ง เพื่อให้ได้แผนการปรับปรุงที่เหมาะสมทั้งด้านวิชาการและเป็นที่ยอมรับของประชาชน โดยกรมชลประทานและที่ปรึกษาได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 2 ครั้ง

“ผลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ คือรูปแบบในการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำทั้ง 22 แห่ง รวมถึงระบบต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น แก้ไขการรั่วซึมของอ่างฯ ปรับปรุงอาคารประกอบที่ชำรุดทรุดโทรม การเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างฯ โดยการเพิ่มระดับเก็บกักน้ำและปรับปรุงทางระบายน้ำล้น การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำใหม่ในบริเวณอ่างเก็บน้ำเดิม การปรับปรุงสถานีสูบน้ำ การปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำ เป็นต้น โดยประชาชนผู้มีส่วนได้เสียที่เข้าร่วมการประชุมเห็นด้วยกับแนวทางการปรับปรุงโครงการ และพร้อมที่จะจัดตั้งกลุ่มเพื่อร่วมกันบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผลจากการปรับปรุงโครงการดังกล่าว จะทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอีกราว 10 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมปริมาณน้ำกักเก็บได้ 21 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้ประมาณ 19,000 ไร่ สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่โครงการปีละ 217 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107 ล้านบาทต่อปี ซึ่งตรงนี้จะตอบโจทย์การแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในพื้นที่อย่างเช่นที่ประสบอยู่ในปีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม” นายสุรชาติ กล่าวชี้แจง

ทางด้านนายนคร จันทรสว่างวงศ์ ชาวบ้านห้วยพัฒนา กล่าวว่า เห็นด้วยและสนับสนุนโครงการฯอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการสร้างอ่างเก็บน้ำและการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่ซึ่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมให้กลับมาใช้งานได้ดี เพราะชาวบ้านบริเวณนี้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมคือทำสวนลำไยเป็นหลัก เฉพาะของตนปลูกลำไยทั้ง 15 ไร่ ที่ผ่านมาต้องอาศัยแหล่งน้ำบาดาลโดยการขุดเจาะบาดาลเพื่อหล่อเลี้ยงลำไยในช่วงฤดูแล้งและช่วงที่ฝนทิ้งช่วง เนื่องจากพื้นที่นี้อยู่ในเขตอับฝนปริมาณฝนตกค่อนข้างน้อยกว่าจุดอื่น แต่อย่างไรก็ตามหากมีอ่างเก็บน้ำก็ยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ ซึ่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำทำให้ระดับน้ำผิวดินมีมากขึ้น การใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำจะทำให้ดินอุ้มน้ำได้ดีกว่าน้ำที่สูบจากบาดาลมารดลำไย และก็ยังทำให้ลำไยแตกใบ แตกช่อได้ดีกว่าอาจเป็นเพราะน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติมีจุลินทรีย์มากกว่าน้ำบาดาลก็ได้ ซึ่งชาวบ้านก็อยากให้ชลประทานเข้ามาช่วยสนับสนุนสร้างแหล่งน้ำให้

ขณะที่ตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯชี้แจงว่า จากการศึกษาทางวิชาการและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วจะต้องมีการปรับปรุงการรั่วซึมจำนวน 7 แห่ง ปรับปรุงสันเขื่อน 18 แห่ง ปรับปรุงยกระดับอาคารระบายน้ำล้น 16 แห่งและก่อสร้างเขื่อนใหม่ 3 แห่งโดยเป็นการก่อสร้างในบริเวณเดิม 2 แห่งและใกล้เคียงกับที่เดิมอีก 1 แห่ง ซึ่งทีมที่ปรึกษาจะสามารถสรุปผลการศึกษาทั้งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้เพื่อให้กรมชลประทานสามารถตั้งของบประมาณมาดำเนินการได้ ซึ่งตามแผนงานโครงการก่อสร้างเป็นแผนระยะ 5 ปี.

 

You may also like

builds มช. ขนทัพสตาร์ทอัพนักศึกษาคับคั่ง พิสูจน์ความสำเร็จ ตั้งบริษัทจริงระหว่างเรียน

จำนวนผู้